อ้ายจรัล มโนเพ็ชร

จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์กซองคำเมือง
เรียบเรียงโดย ศุภกิตติ์ คุณา

“จรัล มโนเพ็ชร” หรือ ราชาโฟล์กซองคำเมือง เสียชีิวิตจากการที่หัวใจล้มเหลวฉับพลัน เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ จังหวัดลำพูน จึงทำให้วันที่ 3 กันยายน ของทุกๆปี ถือเป็นวันที่รำลึกราชาเพลงโฟล์กซองคำเมือง ซึ่งในปีนี้ 2564 ก็ครบ 20 ปี ของการจากไปของราชาโฟล์กซองคำเมือง

จรัล มโนเพ็ชร ในความคุ้นเคยของผม มาจากที่ว่าผมรู้จัก เมืองมะละแหม่ง ตอนสมัยเด็กๆ จากเพลงมะเมียะ ของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งได้ยินครั้งแรกทำให้ฉุกคิดว่า มีเมืองชื่อนี้ด้วยเหรอ ตั้งอยู่ตรงไหน เลยเป็นจุดเริ่มต้นความชอบประวัติศาสตร์ แผนที่เมืองต่างๆตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เพลงดังของคุณจรัล ถ้ากล่าวถึง เพลงล่องแม่ปิง, สาวเชียงใหม่, รางวัลแด่คนช่างฝัน แทบจะไม่มีไม่รู้จักหรือแม้แต่ทำนองดนตรีที่คุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยๆเด็กๆของผม สมัยนั้นได้เรียนดนตรีพื้นเมือง ครูมักจะใช้โน้ตเพลงของคุณจรัล มโนเพ็ชร มาสอนดนตรี แม้แต่ภาพยนตร์และศิลปินหลายท่านก็ได้นำเพลงของจรัลมาร้องใหม่ในเวอร์ชั่นต่างๆ

ราชาโฟล์กซองคำเมือง

ถ้าพูดถึงผลงานเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ในส่วนตัวของผมเอง จะคุ้นหูแทบทุกเพลง อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย งานดนตรีของจรัลมีเอกลักษณ์จากการสร้างสรรค์ภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง) ของเขาซึ่งเรียกว่า “โฟล์กซองคำเมือง” ที่ก่อเกิดขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2520 และได้รับความสนใจจนเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็นแบบอย่างบนแนวทางดนตรีท้องถิ่นร่วมสมัยในปัจจุบัน

โฟล์กซองคำเมืองของจรัลไม่เพียงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเหนือหรือชาวล้านนา ซึ่งเข้าใจภาษาคำเมืองภาษาท้องถิ่นของตน แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยภาคอื่น ๆ ไปจนถึงชาวต่างชาติที่สนใจในศิลปะการดนตรี เอกลักษณ์ของเขาทั้งในการแต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรี ทำให้จรัลได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์กซองคำเมือง” จรัลแต่งเพลงไว้กว่าสองร้อยเพลงในช่วงเวลาราวยี่สิบห้าปีของชีวิตศิลปินของเขา เป็นบทเพลงที่งดงามด้วยการใช้ภาษาเยี่ยงกวี จนทำให้เขาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ในฐานะ “บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา”

Content Creator ประจำกองบรรณาธิการ minichiangmai ชอบกินกาแฟเอสเย็น