minichiangmai.com

minichiangmai.com

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • Gallery
  • ติดต่อเรา
Book Now
  • บุญเสริม สาตราภัย – ช่างภาพล้านนา อดีตกองบรรณาธิการ นสพ.คนเมือง

    บุญเสริม สาตราภัย – ช่างภาพล้านนา อดีตกองบรรณาธิการ นสพ.คนเมือง

    เรื่องหลังเลนส์ ตอน.บุญเสริม สาตราภัย

    เรียบเรียงโดย ศุภกิตติ์ คุณา

    ภาพถ่ายเก่าล้านนาในอดีต ที่ผ่านความทรงจำมาแล้วมากกมาย โดยเฉพาะภาพเก่าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นผลงานการถ่ายภาพของตาบุญเสริม ถือว่าว่าเป็นคนบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเชียงใหม่เลยก็ว่าได้

    บุญเสริม สาตราภัย หรือที่เรียกกันคุณลุงบุญเสริม เริ่มทำงานครั้งแรกที่ร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์ของพี่สาวที่ตลาดต้นลำไย ซึ่งเป็นร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์แรกของเมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่ทำงานที่นี่ บุญเสริมได้รับการแนะนำและการฝึกสอนทางด้านเทคนิคการถ่ายภาพจากนายแพทย์อุทัย สนธินันท์ พี่เขยซึ่งเป็นช่างฝีมือถ่ายรูปมือดี ด้วยความรักและความมุ่งมั่นในการถ่ายรูป บุญเสริมได้ฝึกฝนเทคนิคการทำงานด้านนี้ตลอดเวลา เมื่อมีเวลาว่างจากการขายปุ๋ยนั้นเขามักออกไปตระเวนถ่ายรูปสถานที่และโบราณสถานต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีโอกาสติดตามพี่เขยออกไปถ่ายรูปในต่างจังหวัดต่าง เพราะพี่เขยเป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมไข้มาลาเรียภาคเหนือมักจะต้องออกตรวจท้องที่ จนบุญเสริมคุ้นเคยและเป็นที่รู้จักนักหนังสือพิมพ์เชียงใหม่แทบทุกคน เนื่องจากในช่วงนั้นสำนักพิมพ์ต่างๆ ยังไม่มีช่างภาพเป็นของตัวเอง เพราะกล้องถ่ายรูปมีราคาแพง ฉะนั้นเมื่อมีการรายงานข่าวใหญ่ครั้งใด จึงมักจะมาขอให้เขาไปช่วยถ่ายรูปให้

    ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ผลงานบุญเสริม สาตราภัย

    ในปี พ.ศ. 2503 เขาได้เข้าทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง ในหน้าที่ผู้สื่อข่าว เขาเคยร่วมคณะสำรวจชนเผ่า “ผีตองเหลือง” กับไกรศรี นิมมานเหมินท์ และเป็นที่มาของสารคดีเรื่องผีตองเหลือง ลงในหนังสือพิมพ์คนเมือง และได้รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมจากมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์ หรือรางวัลพูลิตเซอร์เมืองไทย ซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธาน โดยได้รับโล่เกียรติยศจากพลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2506 นับเป็นนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ เขาทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์คนเมืองจนถึง พ.ศ. 2513 จึงย้ายไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์จนถึง พ.ศ. 2525 จึงลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์

    ตาบุญเสริม ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ในช่วง 100 ปีมานี้ โดยมีหนังสือรวมภาพถ่ายที่สำคัญๆ เช่น “เสด็จล้านนา” ที่บันทึกภาพถ่ายเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเชียงใหม่, “เชียงใหม่กับภัยทางอากาศ” ที่รวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, “ล้านนาเมื่อตะวา” ซึ่งมีภาพถ่ายในอดีตของโรงเรียนและตลาดหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ และหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย คุณลุงบุญเสริมยังได้บริจาคภาพถ่าย, แผ่นเสียง, กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์ทางการถ่ายภาพสำคัญๆ ให้แก่สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพายัพอีกด้วย

    ตาบุญเสริม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 อายุ 88 ปี ด้วยโรคชรา ห้วงต้นเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2557 ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ตาบุญเสริม สาตราภัย ในโครงการคนรุ่นใหม่หัวใจ๋ฮักเมือง ตอน ศึกษาตามหาประวัติศาสตร์จากภาพในอดีต ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนภาพประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่กับตาบุญเสริม ซึ่งมีอายุมากแล้ว (ณ ขณะนั้น)


    อ้างอิง: โลกล้านนา (2551) บุญเสริม สาตราภัย บุคคลทางวัฒนธรรม, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ศุภกิตติ์ คุณา

    3 พฤศจิกายน 2021
    interview
    ช่างภาพเชียงใหม่, บุญเสริม สาตราภัย, ภาพเก่าล้านนา
  • 3 กันยายน รำลึกถึงอ้ายจรัล ราชาโฟล์กซองคำเมือง

    3 กันยายน รำลึกถึงอ้ายจรัล ราชาโฟล์กซองคำเมือง

    อ้ายจรัล มโนเพ็ชร

    จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์กซองคำเมือง
    เรียบเรียงโดย ศุภกิตติ์ คุณา

    “จรัล มโนเพ็ชร” หรือ ราชาโฟล์กซองคำเมือง เสียชีิวิตจากการที่หัวใจล้มเหลวฉับพลัน เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ จังหวัดลำพูน จึงทำให้วันที่ 3 กันยายน ของทุกๆปี ถือเป็นวันที่รำลึกราชาเพลงโฟล์กซองคำเมือง ซึ่งในปีนี้ 2564 ก็ครบ 20 ปี ของการจากไปของราชาโฟล์กซองคำเมือง

    จรัล มโนเพ็ชร ในความคุ้นเคยของผม มาจากที่ว่าผมรู้จัก เมืองมะละแหม่ง ตอนสมัยเด็กๆ จากเพลงมะเมียะ ของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งได้ยินครั้งแรกทำให้ฉุกคิดว่า มีเมืองชื่อนี้ด้วยเหรอ ตั้งอยู่ตรงไหน เลยเป็นจุดเริ่มต้นความชอบประวัติศาสตร์ แผนที่เมืองต่างๆตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เพลงดังของคุณจรัล ถ้ากล่าวถึง เพลงล่องแม่ปิง, สาวเชียงใหม่, รางวัลแด่คนช่างฝัน แทบจะไม่มีไม่รู้จักหรือแม้แต่ทำนองดนตรีที่คุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยๆเด็กๆของผม สมัยนั้นได้เรียนดนตรีพื้นเมือง ครูมักจะใช้โน้ตเพลงของคุณจรัล มโนเพ็ชร มาสอนดนตรี แม้แต่ภาพยนตร์และศิลปินหลายท่านก็ได้นำเพลงของจรัลมาร้องใหม่ในเวอร์ชั่นต่างๆ

    ราชาโฟล์กซองคำเมือง

    ถ้าพูดถึงผลงานเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ในส่วนตัวของผมเอง จะคุ้นหูแทบทุกเพลง อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย งานดนตรีของจรัลมีเอกลักษณ์จากการสร้างสรรค์ภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง) ของเขาซึ่งเรียกว่า “โฟล์กซองคำเมือง” ที่ก่อเกิดขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2520 และได้รับความสนใจจนเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็นแบบอย่างบนแนวทางดนตรีท้องถิ่นร่วมสมัยในปัจจุบัน

    โฟล์กซองคำเมืองของจรัลไม่เพียงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเหนือหรือชาวล้านนา ซึ่งเข้าใจภาษาคำเมืองภาษาท้องถิ่นของตน แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยภาคอื่น ๆ ไปจนถึงชาวต่างชาติที่สนใจในศิลปะการดนตรี เอกลักษณ์ของเขาทั้งในการแต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรี ทำให้จรัลได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์กซองคำเมือง” จรัลแต่งเพลงไว้กว่าสองร้อยเพลงในช่วงเวลาราวยี่สิบห้าปีของชีวิตศิลปินของเขา เป็นบทเพลงที่งดงามด้วยการใช้ภาษาเยี่ยงกวี จนทำให้เขาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ในฐานะ “บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา”

    ศุภกิตติ์ คุณา

    3 กันยายน 2021
    interview
    จรัล มโนเพ็ชร, ราชาโฟล์กซองคำเมือง, ศิลปินล้านนา
  • เรื่องหลังเลนส์ ตอน โอ วรุฒ วรธรรม

    เรื่องหลังเลนส์ ตอน โอ วรุฒ วรธรรม

    เรื่องหลังเลนส์ ตอน โอ วรุฒ วรธรรม
    เรื่องและภาพ: ศุภกิตติ์ คุณา

    ในยุคสมัยที่ผมรู้จักโอ วรุฒ ครั้งแรกนั้นคงเป็นละครเรื่อง ผู้กองยอดรัก ออกอากาศทางช่อง TITV มี ตุ้ย เกียรติกมล ล่าทา รับบทเป็นนายพันพระเอก และโอ วรุฒ รับบทเป็นกำนันพูน ในที่นี้ผมขอเรียกว่าพี่โอ น่าจะโอเคกว่าคุณโอแล้วกัน นอกจากนั้นผมได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของพี่โอ ในเรื่องภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม รับบท โกโบริ ซึ่งเป็นเรื่องแจ้งเกิดเลยก็ว่าได้

    ปี พ.ศ.2560 ผมมีโอกาสได้เจอพี่โอ ที่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ วันนั้นที่ไปบ้าน เพราะรู้ข่าวว่าพี่โอ เปิดร้านกาแฟที่บ้านพักของตนเอง ใช้ชื่อคาเฟ่ว่า บ้านวรุฒ ตอนนั้นยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากนักคนยังไม่เยอะ ก็เลยมีโอกาสได้นั่งคุยกับพี่โอนานหลายเรื่องพอสมควร (โอ้ นี่เรามาเจอดาราที่ฮอตมากในยุคสมัยนึง) บ้านพี่โอ มีรูปภาพตนเองที่รับบทเป็นโกโบริ ติดอยู่ผนังบ้าน จากนั้นเมื่อทราบว่าพี่โอนั้นร่างกายสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ก็เริ่มไปแวะเที่ยวหาบ่อยขึ้น พอรู้จักกันสักช่วงหนึ่ง พี่โอก็เริ่มสอนตกปลา ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่พี่โอชื่นชอบ

    พี่โอยังเล่าให้ผมฟังอีกว่าเดิมทีก็ติดเหล้าหนักมาก จนการงานนั้นหายไป ไม่เป็นผู้เป็นคนเลย เลยถือโอกาสขอพี่โอ อัดคลิปวิดีโอ เล่าเรื่องเหล้า เพื่อเล่าเรื่องการติดเหล้าของตัวเอง ที่อาจจะกลายเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนให้ได้เลิกเหล้าได้บ้าง

    วิดีโอบทสัมภาษณ์ “เล่าเรื่องเหล้า” ถ่ายทำเมื่อ วันที่ 6 ตุลาคม 2560 จากนั้นผมมีโอกาสได้นำไปเปิดครั้งแรกในงานประชุมของศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคเหนือตอนบน และก็นำไปอัพโหลดในยูทูป

    พี่โอ วรุฒ เล่าว่า ตนเริ่มดื่มเหล้าหลังกลับจากเรียนที่ประเทศอังกฤษ จนช่วงเริ่มเข้าวงการบันเทิง ซึ่งตอนนั้นที่ดื่มก็เพื่อสังสรรค์เท่านั้น จะมาดื่มหนัก ๆ เลยก็ช่วงที่ตกงาน และสาเหตุที่ตกงานก็เพราะการดื่มเหล้า มาประกอบกับความเสียใจหลายๆ อย่าง จึงยิ่งทำให้ดื่มหนักขึ้น 1 ลิตรต่อวัน และผลของการดื่มหนักทำให้ส่งผลกระทบกับสมอง คือ เริ่มจำอะไรไม่ได้ คิดช้า ตนเองเคยดื่มเหล้า 1 ลิตรต่อวัน ยาวนานเกือบ 1 ปีเต็ม ซึ่งสิ่งที่ทำให้สามารถเลิกเหล้าได้ มาจากที่มองดูสภาพตัวเองแล้วไม่ไหว ไม่ใช่ โอ วรุฒ คนเดิม ที่ขนาดแค่จะยืนสระผมยังทำไม่ได้ พอหลับตาแล้วเหมือนจะล้มลงตรงนั้น เดินไปไหนมาไหนก็แทบไม่ได้ จะเซไปหมด จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะ “เลิก” แล้วก็เลิกในทันที

    หลังจากที่ชีวิตหลังเลิกเหล้าของพี่โอ เปลี่ยนแปลงไปมาก ร่างกายกระฉับกระเฉง จะทำอะไรก็สามารถทำได้ อยากไปไหนก็ไปได้ เหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างให้ตัวเอง ทำให้โลกน่าอยู่กว่าเดิม ต่างจากที่อยู่แต่กับขวดเหล้าในห้องเล็กๆ เมื่อชีวิตพี่โอเริ่มลงตัว ด้วยความที่เคยเป็นเชฟอยู่อังกฤษมาก่อน ผมจึงชวนพี่โอ ทำคลิปแนวรายการอาหารชื่อว่า “ครัวสบายๆสไตล์วรุฒ” คลิปแรกเป็นเมนูต้มข่าไก่ คิดว่าน่าจะเป็นรายการสุดท้ายที่ถ่ายทำของชีวิตพี่โอ และยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน (เพราะตอนนี้ยังเก็บฟุตเทจไว้ 555)

    อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พี่โอใช้ในการเลิกเหล้านั้นก็คือ “ใจ” ของตัวเอง ต้องตัดสินใจตอนมีสติ บอกกับตัวเองว่าอยากเป็นคนใหม่ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่จะสามารถช่วยประคองไปก็คือ ครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง จงอย่าซ้ำเดิม และต้องมอบกำลังใจให้กัน

    พี่โอ วรุฒ วรรธรรม จากเราไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ หลังจากที่เลิกเหล้าอย่าเด็ดขาดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ติดเหล้านานกว่า 30 ปี พี่โอ วรุฒ ก็เกิดอาการวูบจนต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล และแพทย์สามารถยื้อชีวิตกลับมาได้ แต่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 อาการโคม่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 พี่โอ วรุฒ ได้จากไปอย่างสงบ รวมอายุ 49 ปี โดยทำให้คลิปวิดีโอ เล่าเรื่องเหล้า ถูกสื่อหลายสำนักนำไปเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมาก


    เรื่องหลังเลนส์โดย ศุภกิตติ์ คุณา ขอบคุณพี่โอที่เคยได้ร่วมงานกันครับ ขอบคุณภาพประกอบหน้าปกจากนิตยสารแพรวครับ

    ศุภกิตติ์ คุณา

    17 เมษายน 2020
    interview, เรื่องหลังเลนส์
    เล่าเรื่องเหล้า, โอ วรุฒ, โอ วรุฒ วรธรรม
  • อบเชย เวียงพิงค์ นักร้องเสียงอมตะ ตำนานเพลงปี๋ใหม่เมือง

    อบเชย เวียงพิงค์ นักร้องเสียงอมตะ ตำนานเพลงปี๋ใหม่เมือง

    อบเชย เวียงพิงค์ ศิลปินตำนานเพลงอมตะ ปี๋ใหม่เมือง

    เรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา (สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.2559)

    ถ้ากล่าวถึงบทเพลงในอัลบั้มต่อไปนี้ ในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน แทบไม่มีใครที่จะไม่รู้จักเพลงเหล่านี้มักถูกเปิดมายาวนานหลายสมัยจนคุ้นหูเป็นอมตะ อย่างเช่นเพลง จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย สาวจี๋ จ้างมันเต๊อะ อ้ายบ่ลืมแต้กา ดำหัวปี๋ใหม่เมือง แอ่วปี๋ใหม่เมือง เป็นต้น

    “ปี๋เก่าก็ล่วงไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วก็มาฮอดมาเติง ประเพณีปี๋ใหม่เมืองเฮา ทั้งหนุ่มเฒ่า เฮาล้วนร่ำเปิง ต่างก็แห่ฟ้อนรำตามเจิง สำราญรื่นเริงฮ่วมกันเล่นน้ำ”

    ท่อนเพลงนี้มักจะได้ยินทุกๆช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงในภาคเหนือตอนบน มักจะนำบทเพลงที่ศิลปินชุด อบเชย เวียงพิงค์ & วีระศักดิ์ มาเปิดเพื่อเข้าบรรยากาศกับเทศกาล เรามักจะได้ยินแต่เพลง แต่แทบไม่รู้เลยว่าศิลปินเป็นใคร

    อบเชย มีชื่อจริงว่า อบเชย นามสกุล ศรีสุข (นามสกุลเดิม อินทราพุฒ) เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2508 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนบ้านไร่ ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นคนสันป่าตองแต่กำเนิด) ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครปฐมกับครอบครัว อบเชยเป็นศิษย์เก่าสันป่าตองวิทยาคมรุ่นแรกที่มีการใช้ระบบมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนชั้นมัธยมศึกษาช่วงปี พ.ศ.2521-2526 และอบเชยจะเรียกตัวเองว่า อบ

    อบเชย_002

    เมื่อถามถึงเส้นทางชีวิตสู่ถนนสายดนตรีของอบเชย

    ตอนเด็กๆ อบเชยมีนิสัยเป็นคนที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้ว เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักดนตรีเก่าและมักจะชอบร้องเพลงกับพี่ชายและพี่สาว ในขณะช่วงระหว่างที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม อบมีความสนใจร้องเพลงเพื่อผ่อนคลายและในส่วนของวิชาดนตรี ซึ่งครูธุธัช กริชสวรรค์ ได้ให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความสามารถทางการร้องเพลงและได้ให้โอกาส คัดเลือกอบมาเป็นนักร้องของวงดนตรีโรงเรียน ซึ่งอบเชยเป็นนักร้องของโรงเรียนครั้งแรกอายุประมาณ 15 ปี (พ.ศ.2523) หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยความที่ว่าครอบครัวของอบเชยเป็นครอบครัวที่ยากจน จึงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ต้องหางานทำ จนได้มารู้จักกับ อาจารย์วีระศักดิ์ จันทิมา (ซึ่งอาจารย์ก็ได้ร้องเพลงคู่กับอบเชยในเพลงแอ่วเมืองเหนือ-ดำหัวปี๋ใหม่ และอีกหลายๆเพลง) อาจารย์ได้รู้จักกับนายห้างบุญทรง ที่บริษัททิพย์เนตร ซึ่งเป็นบริษัทขายเทป จากนั้นนายห้างก็ได้ติดต่อให้อบเชยกับอาจารย์วีระศักดิ์ไปอัดเทปชุดแอ่วเมืองเหนือกับบริษัทชัวร์ออดิโอ(ค่ายเพลงชัวร์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์) โดยชื่อ อบเชย เวียงพิงค์ เป็นชื่อที่บริษัทชัวร์ออดิโอได้ตั้งให้อบเชย สำหับอัลบั้มแอ่วเมืองเหนือชุดแรกนั้น ได้อัดเสียงตอนอายุประมาณ 21-22 ปี และได้ออกผลงานเพลงในชื่ออัลบั้มแอ่วเมืองเหนือทั้งหมด 4 ชุด

    อบเชย_004

    พูดถึงผู้ประพันธ์ในอัลบั้มแอ่วเมืองเหนือและชอบเพลงไหนมากที่สุด

    สำหรับผู้ประพันธ์คำร้อง-ทำนองจะมี สนิท ศ., ธินศมาศ มหานาม, ส่งสุข ภัคเกษม และสำราญ ชัยปัน ส่วน หนุ่ม ภูไท เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี สำหรับอัลบั้มนี้ อบเชยชอบหมดทุกเพลง เพราะเป็นเพลงสะท้อนชีวิตของผู้คนในภาคเหนือเรา แต่ที่ชอบเป็นพิเศษคือเพลงแอ่วเมืองเหนือและดำหัวปี๋ใหม่ เพราะทั้งสองเพลงนี้เป็นบทเพลงที่มีความหมายสำหรับพี่น้องภาคเหนือ เป็นบทเพลงที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของประเพณีปี๋ใหม่เมืองข

    เคยดาดหวังกับผลงานเพลงของตนเองหรือไม่

    ตอนนั้นคิดตามประสาเด็กบ้านนอกค่ะ ว่าจะมีใครเขามาฟังเพลงของเรา เสียงของเราก็อาจจะไม่ไพเพราะเหมือนนักร้องคนอื่นที่มีชื่อเสียง พอคิดแล้วก็อาย และกลัวว่าจะไม่มีคนฟังเพลงของเราและก็ไม่เคยคิดเลยค่ะว่าเพลงจะถูกเปิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองของทุกๆปี ซึ่งสมัยนั้นเมื่อออกอัลบั้ม เพลงยังไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ สมัยก่อนที่อบจะอัดเสียง มักจะได้ยินเพลงของคุณนิทัศน์ ละอองศรีอยู่บ่อยๆ แต่สมัยนั้นไม่ค่อยมีคนเปิดเพลง อาจเป็นเพราะวิทยุเทปราคายังแพงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีน้อยอยู่ค่ะ ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพงและความทันสมัยของเทคโนโลยีมีสูงมากขึ้น

    อบเชย-เวียงพิงค์_2559

    ทำไมถึงเลิกร้องเพลงหรือหายจากวงการเพลงนี้ไปเลย

    อบเชยเลิกร้องเพลงและหายไปจากวงการเพลงนี้ ก็เพราะว่าตอนนั้นมีครอบครัวแล้ว ก็เลยคิดว่า ขอหยุดเพื่อมาทำหน้าที่แม่บ้านและให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์และอบอุ่นดีกว่าค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังสามารถร้องเพลงได้อยู่ค่ะ แต่ไม่ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพและไม่ได้ร้องเพลงในงานใดๆทั้งสิ้น เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะลืมเนื้อเพลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่เสียงก็อาจจะไม่ค่อยเหมือนเมื่อก่อน เพราะว่าอายุก็มากแล้วด้วย ปีนี้ (พ.ศ.2559) โชคดีที่ได้กลับมาเชียงใหม่บ้านเกิด ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้เจอ อ.วีระศักดิ์ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันกว่า 20 ปี ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเส้นทางสู่วงการเพลงปี๋ใหม่เมืองที่ผ่านมา ในอนาคต อบเชย ยังบอกว่าถ้าสุขภาพยังแข็งแรงดีก็อาจจะกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2561 อบเชย เวียงพิงค์ ได้รับรางวัล รางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปี พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องวันภาษาไทยแห่งชาติ


    © ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์รูปภาพและบทความ:

    บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆได้ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ เช่น เว็บไซต์ที่ไม่แสวงหารายได้และไม่มีโฆษณาปรากฎในเว็บไซต์ นิตยสารที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง Link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ และแจ้งเพื่อขออนุญาตมายัง www.minichiangmai.com ด้วย บทความนี้ถูกอนุญาตให้เผยแพร่บนวิกิพีเดีย Wikipedia.org

    ศุภกิตติ์ คุณา

    15 เมษายน 2016
    interview
    ดำหัวปี๋ใหม่, ปี๋ใหม่เมือง, สงกรานต์, สงกรานต์เชียงใหม่, สาวจี๋, อบเชย, อบเชยเวียงพิงค์, เพลงปี๋ใหม่เมือง, แอ่วปี๋ใหม่เมือง

©2023 All rights reserved.

  • WordPress
  • Twitter
  • Facebook