เรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา (สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.2559)
ถ้ากล่าวถึงบทเพลงในอัลบั้มต่อไปนี้ ในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน แทบไม่มีใครที่จะไม่รู้จักเพลงเหล่านี้มักถูกเปิดมายาวนานหลายสมัยจนคุ้นหูเป็นอมตะ อย่างเช่นเพลง จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย สาวจี๋ จ้างมันเต๊อะ อ้ายบ่ลืมแต้กา ดำหัวปี๋ใหม่เมือง แอ่วปี๋ใหม่เมือง เป็นต้น
“ปี๋เก่าก็ล่วงไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วก็มาฮอดมาเติง ประเพณีปี๋ใหม่เมืองเฮา ทั้งหนุ่มเฒ่า เฮาล้วนร่ำเปิง ต่างก็แห่ฟ้อนรำตามเจิง สำราญรื่นเริงฮ่วมกันเล่นน้ำ”
ท่อนเพลงนี้มักจะได้ยินทุกๆช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงในภาคเหนือตอนบน มักจะนำบทเพลงที่ศิลปินชุด อบเชย เวียงพิงค์ & วีระศักดิ์ มาเปิดเพื่อเข้าบรรยากาศกับเทศกาล เรามักจะได้ยินแต่เพลง แต่แทบไม่รู้เลยว่าศิลปินเป็นใคร
อบเชย มีชื่อจริงว่า อบเชย นามสกุล ศรีสุข (นามสกุลเดิม อินทราพุฒ) เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2508 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนบ้านไร่ ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นคนสันป่าตองแต่กำเนิด) ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครปฐมกับครอบครัว อบเชยเป็นศิษย์เก่าสันป่าตองวิทยาคมรุ่นแรกที่มีการใช้ระบบมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนชั้นมัธยมศึกษาช่วงปี พ.ศ.2521-2526 และอบเชยจะเรียกตัวเองว่า อบ
เส้นทางชีวิตสู่ถนนสายดนตรีของอบเชย
ตอนเด็กๆ อบเชยมีนิสัยเป็นคนที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้ว เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักดนตรีเก่าและมักจะชอบร้องเพลงกับพี่ชายและพี่สาว ในขณะช่วงระหว่างที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม อบมีความสนใจร้องเพลงเพื่อผ่อนคลายและในส่วนของวิชาดนตรี ซึ่งครูธุธัช กริชสวรรค์ ได้ให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความสามารถทางการร้องเพลงและได้ให้โอกาส คัดเลือกอบมาเป็นนักร้องของวงดนตรีโรงเรียน ซึ่งอบเชยเป็นนักร้องของโรงเรียนครั้งแรกอายุประมาณ 15 ปี (พ.ศ.2523) หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยความที่ว่าครอบครัวของอบเชยเป็นครอบครัวที่ยากจน จึงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ต้องหางานทำ จนได้มารู้จักกับ อาจารย์วีระศักดิ์ จันทิมา (ซึ่งอาจารย์ก็ได้ร้องเพลงคู่กับอบเชยในเพลงแอ่วเมืองเหนือ-ดำหัวปี๋ใหม่ และอีกหลายๆเพลง) อาจารย์ได้รู้จักกับนายห้างบุญทรง ที่บริษัททิพย์เนตร ซึ่งเป็นบริษัทขายเทป จากนั้นนายห้างก็ได้ติดต่อให้อบเชยกับอาจารย์วีระศักดิ์ไปอัดเทปชุดแอ่วเมืองเหนือกับบริษัทชัวร์ออดิโอ(ค่ายเพลงชัวร์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์) โดยชื่อ อบเชย เวียงพิงค์ เป็นชื่อที่บริษัทชัวร์ออดิโอได้ตั้งให้อบเชย สำหับอัลบั้มแอ่วเมืองเหนือชุดแรกนั้น ได้อัดเสียงตอนอายุประมาณ 21-22 ปี และได้ออกผลงานเพลงในชื่ออัลบั้มแอ่วเมืองเหนือทั้งหมด 4 ชุด
ผู้ประพันธ์ในอัลบั้มแอ่วเมืองเหนือ
สำหรับผู้ประพันธ์คำร้อง-ทำนองจะมี สนิท ศ., ธินศมาศ มหานาม, ส่งสุข ภัคเกษม และสำราญ ชัยปัน ส่วน หนุ่ม ภูไท เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี สำหรับอัลบั้มนี้ อบเชยชอบหมดทุกเพลง เพราะเป็นเพลงสะท้อนชีวิตของผู้คนในภาคเหนือเรา แต่ที่ชอบเป็นพิเศษคือเพลงแอ่วเมืองเหนือและดำหัวปี๋ใหม่ เพราะทั้งสองเพลงนี้เป็นบทเพลงที่มีความหมายสำหรับพี่น้องภาคเหนือ เป็นบทเพลงที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของประเพณีปี๋ใหม่เมืองข
เคยดาดหวังกับผลงานเพลงของตนเองหรือไม่
ตอนนั้นคิดตามประสาเด็กบ้านนอกค่ะ ว่าจะมีใครเขามาฟังเพลงของเรา เสียงของเราก็อาจจะไม่ไพเพราะเหมือนนักร้องคนอื่นที่มีชื่อเสียง พอคิดแล้วก็อาย และกลัวว่าจะไม่มีคนฟังเพลงของเราและก็ไม่เคยคิดเลยค่ะว่าเพลงจะถูกเปิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองของทุกๆปี ซึ่งสมัยนั้นเมื่อออกอัลบั้ม เพลงยังไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ สมัยก่อนที่อบจะอัดเสียง มักจะได้ยินเพลงของคุณนิทัศน์ ละอองศรีอยู่บ่อยๆ แต่สมัยนั้นไม่ค่อยมีคนเปิดเพลง อาจเป็นเพราะวิทยุเทปราคายังแพงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีน้อยอยู่ค่ะ ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพงและความทันสมัยของเทคโนโลยีมีสูงมากขึ้น
ทำไมถึงเลิกร้องเพลงหรือหายจากวงการเพลงนี้ไปเลย
อบเชยเลิกร้องเพลงและหายไปจากวงการเพลงนี้ ก็เพราะว่าตอนนั้นมีครอบครัวแล้ว ก็เลยคิดว่า ขอหยุดเพื่อมาทำหน้าที่แม่บ้านและให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์และอบอุ่นดีกว่าค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังสามารถร้องเพลงได้อยู่ค่ะ แต่ไม่ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพและไม่ได้ร้องเพลงในงานใดๆทั้งสิ้น เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะลืมเนื้อเพลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่เสียงก็อาจจะไม่ค่อยเหมือนเมื่อก่อน เพราะว่าอายุก็มากแล้วด้วย ปีนี้ (พ.ศ.2559) โชคดีที่ได้กลับมาเชียงใหม่บ้านเกิด ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้เจอ อ.วีระศักดิ์ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันกว่า 20 ปี ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเส้นทางสู่วงการเพลงปี๋ใหม่เมืองที่ผ่านมา ในอนาคต อบเชย ยังบอกว่าถ้าสุขภาพยังแข็งแรงดีก็อาจจะกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2561 อบเชย เวียงพิงค์ ได้รับรางวัล รางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปี พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องวันภาษาไทยแห่งชาติ
© ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์รูปภาพและบทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆได้ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ เช่น เว็บไซต์ที่ไม่แสวงหารายได้และไม่มีโฆษณาปรากฎในเว็บไซต์ นิตยสารที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง Link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ และแจ้งเพื่อขออนุญาตมายัง www.minichiangmai.com ด้วย บทความนี้ถูกอนุญาตให้เผยแพร่บนวิกิพีเดีย Wikipedia.org