ประเพณีเลี้ยงดง (เชียงใหม่) ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผี “ประเพณีเลี้ยงดง” ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือประเพณีบวงสรวง เลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ เป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวลัวะ
เรื่องราวของปู่แสะ ย่าแสะ เป็นตำนานเกี่ยวกับยักษ์สองผัวเมียที่เป็นบรรพบุรุษของชาวลัวะ และกลายเป็นผู้พิทักษ์เมืองเชียงใหม่ ตำนานนี้มีการเผชิญหน้าระหว่างพระพุทธเจ้ากับปู่แสะ ย่าแสะ และลูกที่เป็นยักษ์ดุร้าย ปู่แสะย่าแสะ พ่ายแพ้พระพุทธเจ้า และหันมารับศีลห้า แต่ยังขอกินสัตว์ตามสัญชาติญาณยักษ์ ทำให้เกิดการฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยปู่แสะ ย่าแสะ ทุกปีในพิธีเลี้ยงดงของชาวบ้านแม่เหียะใน ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีเลี้ยงดง จะจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 (เหนือ) มีการลงทรงของม้าขี่ปู่แสะ ย่าแสะ ที่กินเนื้อควายสด พร้อมแขวนผ้าพระบฏ เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับตำนาน ความเชื่อนี้ทำให้ปู่แสะ ย่าแสะ เป็น อารักษ์ผีเมือง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาเมืองและความอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น
ตำนานของปู่แสะ ย่าแสะ ปรากฏทั้งในเอกสารโบราณและเอกสารร่วมสมัย รวมถึงมุขปาฐะสำนวนชาวบ้านที่เน้นว่าปู่แสะ ย่าแสะ เป็นต้นตระกูลของผีสำคัญในเมืองเชียงใหม่ ลูกๆ ของปู่แสะย่าแสะ จำนวน 32 ตน ได้แยกย้ายไปเป็นอารักษ์ดูแลเมืองต่าง ๆ
พิธีเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเลี้ยงผีเมือง ที่ทำในช่วงเดือน 8 ถึงเดือน 9 เหนือ หรือเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีเลี้ยงดง พิธีกรรมนี้ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อขอให้ปู่แสะ ย่าแสะ ปกปักรักษาป่าต้นน้ำในเชิงดอยสุเทพ ดอยคำ และเป็นพลังศรัทธาสู่การรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
- อาสา คำภา. ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นจาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sjss/article/view/20381/17699