แอ่ววัดสวนดอก วัดเก่าแก่ในเชียงใหม่

แอ่ววัดสวนดอก (พระอารามหลวง)
วัดเก่าแก่ในเชียงใหม่

พาเที่ยวฉบับมินิวันนี้พาไปแหล่งประวัติศาสตร์ในเขตเวียงสวนดอกของเชียงใหม่ ก่อนอื่นต้องเล่าคร่าวๆก่อนนะครับว่า เวียงสวนดอก เป็นเขตเมืองเก่าทางตะวันตกของเวียงเชียงใหม่ มีวัดสวนดอกเป็นศูนย์กลาง อดีตมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยงจัตุรัส ยาวด้านละราว 470 เมตร มีขนาดราว 1 ใน 4 ของเวียงเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นแนวกำแพงได้บางส่วนครับ

วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม อยู่ไม่ไกลมากนักจากตัวเมืองเชียงใหม่ครับ ซึ่งอยู่ภายในเขตเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

พ.ศ. 2429 ในสมัย ราชวงศ์มังราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระอารามหลวง” โดยโปรดเกล้าให้สร้าง “พระเจดีย์ทรงลังกา” ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

กู่บรรจุพระอัฐิพระราชชายา เจ้าดารารัศมี กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยพระดำริใน พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของวัดสวนดอกกว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่ รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจาก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระพุทธปฏิมาค่าคิง (เท่าพระวรกาย)

เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า “พระเจ้าค่าคิง”

นอกจากนี้ยังมี พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047

นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474

ข้อมูลทั่วไป

วัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร


ข้อมูลประกอบจาก วัดสวนดอก และวิกิพีเดีย

Data Journalist & นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล